Economic Focus

by admin
335 views

6 เดือนผ่านไป…ยังหวังอะไรไม่ได้กับ…
ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ” ฤาษีเลี้ยงเต่า “…
โดย อนันตเดช พงษ์พันธ์

นับย้อนหลังไป 6 เดือนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีการกระทำการยึดอำนาจเพื่อล้มล้างรัฐบาลทักษิณและเพื่อเป็นการหาทางออกทางการเมืองที่กำลังอึมครึมอย่างหนัก ทั้งประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักธุรกิจทั้งหลาย ก็ต่างโห่ร้องยินดีว่าต่อไปนี้จะได้เริ่มต้นเดินหน้าเสียที และพลันที่รัฐบาลประกาศตัวหัวหน้าและลูกทีมเศรษฐกิจออกมา นักลงทุนทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ภาคการผลิต การค้า ต่างก็ให้เสียงตอบรับที่ดี

แต่วันนั้นมาถึงวันนี้ 6 เดือนผ่านไปทีมเศรษฐกิจที่ชาวประชาตั้งความหวังกลับทำอะไรไม่ได้เลย…ที่เป็นชิ้นเป็นอันสำหรับงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ต้องนับรวมงานด้านอื่นๆ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง แม้กระทั่งภาระการจับโจรปล้นแผ่นดิน ที่ผลงานออกมาตอนนี้ต้องบอกว่า…สอบตก กลับมาที่งานด้านเศรษฐกิจที่บอกว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะ 1-2 เดือนแรก หัวหน้าทีมเศรษฐกิจกลับมัวไปยุ่งอยู่เรื่องหวย 2-3 ตัว ซึ่งมันไม่ใช่งานเร่งด่วนที่จะทำเลยในตอนนั้น…เรื่องหวยเงียบไปพักหนึ่งมาเจอเรื่องเงินบาทแข็งอีก คลังว่าไปทาง ลูกมือคนสำคัญอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยว่าไปทาง มะรุมมะตุ้มอยู่กับค่าเงินบาทอยู่ตั้งพักใหญ่ สุดท้ายยาแรงๆ ที่ออกมาใช้ก็ไม่ได้ผลอะไรเลย…ซ้ำร้ายอยู่มาอีกไม่นานหัวหน้าทีมเศรษฐกิจกลับถอดใจโบกมือลาเอาดื้อๆ…ทำเอาภาคธุรกิจปั่นป่วนกันไปพักหนึ่ง…
หันมาที่ลูกทีมคนแรกคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านมา 6 เดือนก็ยังวุ่นอยู่กับเรื่องการแก้ปัญหานอมินีและกฎหมายค้าปลีก ซึ่งผ่านมาแล้ว 6 เดือนก็ไม่มีอะไรคืบซักกะอย่าง ส่วนลูกทีมเศรษฐกิจคนที่สองคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วง 3-4 เดือนแรกก็ไม่ต้องถามว่าทำอะไร… นอกจากไล่รื้อไล่ยุบโครงการเก่าๆ เช่นกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น…ส่วนงานเก่าที่ควรจะเดินหน้าอย่าง ” อีโคคาร์ ” ก็ยึกยักๆอยู่นั่นแหละไม่เข้าท่าเข้าทางซักกะที…จนกระทั่งส้มหล่นลงหลังคาบ้านให้ขึ้นมานั่งตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเสียเอง เรื่อง ” อีโคคาร์ ” ก็ยังไปไม่ถึงไหน
ถ้าถามว่าจะหวังอะไรในฝีมือของทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลชุด ” ขิงแก่ ” ที่ตอนนี้มีฉายาใหม่ (ที่เข้าท่ากว่า) ว่ารัฐบาลฤาษี ” เลี้ยงเต่า ” ได้แค่ไหน…คำตอบคงเห็นๆ กันอยู่แล้ว…ที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค…ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม…ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ…พาเหรดกันทำสถิติติดลบ (นิวโลว์)…แม้แต่ภาครัฐเองที่รู้กันว่าค่อนข้างจะมองโลกในแง่บวกก็ยังออกมายอมรับว่า…อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ…หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)…และรายได้ที่จะเก็บเข้าคลังจะต้องลดลง…ไม่นับรวมตัวเลขด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้อาจจะขยายตัวแค่ 8-9% จากที่เคยขยายตัวมากกว่า 10% เนื่องจากเผชิญปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท…ไม่นับรวมตัวเลขการท่องเที่ยวที่ลดฮวบๆ เพราะปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ…ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของทหาร
งานด้านการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจไทยที่เห็นเด่นชัดที่สุดในรอบ 6 เดือนของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ก็มีเพียงไม่กี่เรื่อง เรื่องแรกคือการกดดันให้แบงก์ชาติพยายามลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตามมา ทำให้ภาคเอกชนกล้าที่จะลงทุน และภาคประชาชนกล้าที่จะบริโภคมากขึ้น ซึ่งก็คาดกันว่าตลอดอายุรัฐบาลนี้คงจะลดดอกเบี้ยลงมาได้ประมาณ 1% แต่เท่าที่ดูตอนนี้แม้ว่าดอกเบี้ยจะลดลงมาแล้ว 3 ระลอก (0.75%)…แต่ก็ยังไม่เห็นผลอะไรเลย ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ยังนั่งคอตก…แบงก์เองก็นั่งตัวสั่นเพราะลูกค้าที่เคยดีๆ กำลังทำท่าว่าจะเป็นหนี้เน่า…ตลาดหุ้นไม่ต้องพูดถึง ต้วมเตี้ยมอย่างกับหอยทากเมายาเส้น…
ส่วนผลงานชิ้นที่สองที่เห็นกำลังขะมักเขม้นกันอยู่ก็คือเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า…ด้วยการเรียกแบงก์ เฉพาะกิจและสถาบันการเงินของรัฐรวม 9 แห่งให้เข้ามารับนโยบาย ช่วยปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนและธุรกิจในระดับรากหญ้ารวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)…เพราะหวังอย่างน้อยๆ จะมีเม็ดเงินไหลเข้าระบบกว่า 3 หมื่นล้านบาท มาถึงขั้นนี้ก็บอกว่ารัฐบาลขิงแก่ที่พร่ำบนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด ต้องยอมบากหน้าหันมาใช้นโยบายประชานิยมเหมือนกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก่นด่าว่าการบริหารประเทศแบบเงินฟาดหัวมันน่ารังเกียจเสียนี่กระไร…
แต่ว่าพอเอาเข้าจริงก็เกรงว่าแผนการบีบคอแบงก์รัฐมาช่วยกันระดมเงินใส่เข้าระบบก็ทำท่าว่าจะไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่…แบงก์รัฐแต่ละแห่งอาการก็ไม่ค่อยดี…อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็อาการย่ำแย่ แผลยังกลัดหนองอีกหลายแผล ซึ่งล้วนเป็นงานที่ต้องทำตามคำสั่งรัฐบาลทั้งนั้น แบมือขอเงินเพิ่มทุนจากรัฐ กระทรวงการคลังก็ยังเกี่ยงๆ (เพราะไม่มีเงิน) ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME BANK) แม้เต็มใจรับคำสั่งแต่สภาพของแบงก์ก็ง่อนแง่นโอนเอนเต็มทน…เพราะหนี้เน่าท่วมท้นจนแบงก์ชาติจ้องตาเป็นมัน…ขณะที่ธนาคารออมสินแม้จะแข็งแรง มีกำไรตั้งเยอะแต่จะผลีผลามไปเดี๋ยวก็จะโดนด่าว่าเอาเงินเด็กมาละลาย…ขนาดว่าที่ผ่านมามีหนี้เน่าแค่ 5-6% แบงก์ออมสินยังโดนกระหน่ำเสียงอมพระราม…หันไปที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายการจัดตั้ง นอกจากปล่อยกู้ซื้อบ้านแล้วอย่างอื่นก็ทำได้แค่ปล่อยสินเชื่อเพื่อตกแต่ง ซ่อมแซมบ้าน…และเท่าที่ดูลูกค้าธอส.ไม่ใช่พวกรากหญ้าเลยซักกะนิด…สรุปว่าไม่ตรงคอนเซ็ปต์ปลุกเศรษฐกิจรากหญ้า
ส่วนแบงก์พาณิชย์ที่หน่วยงานของรัฐถือหุ้นใหญ่…ทั้งกรุงไทย ทหารไทย, นครหลวงไทย, ไทยธนาคาร…ก็จะทำอะไรก็ได้ตามรัฐบาลสั่งการคงไม่ได้…เพราะมีกฎกติกาของกฎหมายว่าด้วยบริษัทจดทะเบียน กฎหมายธนาคารพาณิชย์ และกติกาของแบงก์ชาติกำกับอยู่อย่างเข้มงวด ซ้ำยิ่งโดนมาตรฐานบัญชีใหม่เข้าไปแบบนี้ด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวว่ายากส์…
สรุปแล้วแผนการใช้แบงก์รัฐมาปลุกเศรษฐกิจรากหญ้า…ก็คงเข้ารกเข้าพงไม่เป็นท่าเหมือนเดิม…ครั้นจะหันมาหาการจับจ่ายใช้สอยเงินทองของภาครัฐ…ก็ดูจะไม่มีหวัง…แต่ละโครงการก่อสร้าง เช่น รถไฟฟ้า 5 สายก็เถียงกันไม่จบ…ส่วนงานโครงการก่อสร้างอื่นๆ ก็นิ่งๆ เนิบๆ…เพราะคนทำงานเกร็งไปหมด…เพราะทั้ง…คตส…สตง…ป.ป.ช…คอยจ้องจะชี้ด่าว่าโกงอยู่เรื่อย…ซ้ำร้ายกว่านั้นรายได้จากภาษีและเงินนำส่งรัฐของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2550 (งวด 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ ก็เก็บรายได้พลาดเป้าไปถึง 2.3 พันล้านบาท) จะควักจะจ่ายอะไรก็คงไม่คล่องมือเสียเท่าไหร่นัก…
และที่น่าสนใจคือเสียงสะท้อนของภาคเอกชน ที่พอจะจับใจความได้ว่านอกจากรัฐบาลจะไม่พยายามบริหารงานด้านเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังมีส่วนสำคัญในการทำลายธุรกิจด้วย อย่างกรณี ของ ธุรกิจส่งออกอาหารแช่แข็ง ได้รับความลำบากจากข้อตกลงเอฟทีเอ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องเงินทุน และศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด
” ยังไม่คาดหวังระยะสั้นในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก ไม่มีมาตรการส่งเสริมการส่งออกทั้งที่ภาคการส่งออกมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ” นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท รูบิคอน จำกัด
” รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาแก้ปัญหาจากรัฐบาลชุดก่อนที่ทำไว้ เอกชนต้องช่วยตัวเองก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ” นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
” ขณะนี้ได้ชะลอแผนขยายพื้นที่คลังสินค้าออกไปก่อน ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของผู้บริโภค ” นายพูนศักดิ์ เธียรไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)
” ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซึมเซาตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากปัจจัยลบหลายๆ ด้าน ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง หลายบริษัทต้องทุ่มรายการส่งเสริมการขายเพิ่มโปรโมชั่น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนด้านกำไรลดลง ภาวะการณ์แบบนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนได้เปรียบกว่ารายเล็กที่ขณะนี้ต้องเผชิญกับปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ให้โครงการ และตอนนี้ในระยะสั้นต้องจับตาดูเรื่องราคาน้ำมัน หากขึ้นราคาตลาดอสังหาฯจะชะงักงัน ” นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้
จากเสียงสะท้อนของภาคเอกชนที่ออกมาแบบนี้…ถ้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำได้เท่านี้…ไร้ฝีมือในการบริหารด้านเศรษฐกิจแบบนี้…แถมยังมีเรื่องความรุนแรงทางการเมืองและปัญหาความมั่นคงแบบนี้…ก็สรุปเลยว่าปีนี้เป็นปีเผาจริงของเศรษฐกิจไทย…