Home ข่าวสารสมาคม ประกาศรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2567

ประกาศรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2567

by admin
482 views

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2567 หัวข้อปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล” โดยวิทยากรชั้นนำหลากหลายความเชี่ยวชาญ ทั้งเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ให้ความรู้ และคำปรึกษาทางการเงิน

เงื่อนไขการจบหลักสูตร:  ผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ ต้องเข้ารับฟังการบรรยายและร่วมกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 5 สัปดาห์

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ:

  1. เป็นผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เปิดกว้างให้ทั้งสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเป็นในปีนี้ รวมถึงสมาชิกวิสามัญ
  2. สมาชิกที่ร่วมฝึกอบรมต้องวางเงินประกัน 1,000 บาท หากมาไม่ครบเวลาตามข้อกำหนด สมาคมฯ ขอสงวนสิทธิไม่คืนเงินประกันดังกล่าว
  3. กรณีมีเหตุจำเป็น เร่งด่วน เพื่อจะได้รับการคืนเงินประกัน ต้องแจ้งให้สมาคมฯ รับทราบเป็นรายกรณี และขอสงวนสิทธิพิจารณาเป็นรายกรณี
  4. รับผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 30 คน

 

เชิญสมาชิกลงทะเบียนพร้อมโอนเงินประกันโดยการสแกน QR Code ตามแนบ หรือคลิ๊กลิงค์ https://forms.gle/juANnoyEbGv1Bzi99

เริ่มอบรม วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน ถึง วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567

อาคาร 10 ชั้น 1 ห้อง Blissful (ห้องกระจก) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สมัครได้ตั้งแต่วันพุธที่ 29 พฤษภาคม ถึง วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567


โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ปี 2567

หัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล”

ที่มาและความสำคัญ :

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัล ก้าวเข้ามาหนึ่งในส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตจนบางครั้งเราเริ่มจินตนาการไม่ออกแล้วว่า จะใช้ชีวิตอย่างไร หากวันนี้ไม่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน ทั้งการสื่อสารแบบเรียลไทม์ การส่งผ่านและคำนวณข้อมูลปริมาณมหาศาล ระบบการทำงานแบบอัตโนมัติที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเงิน การลงทุน ที่ช่วยให้เราทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่จากมุมไหนของโลก ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ได้กว้างขวางขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องพรมแดนทางกายภาพอีกต่อไป เพราะทั้งหมดนี้เราสามารถดำเนินการทุกอย่างผ่านอุปกรณ์และระบบดิจิทัลได้โดยไม่ต้องเดินทาง

สิ่งที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นสำหรับโลกยุคดิจิทัลที่เรากำลังจะได้เห็นต่อไปนั้น จะพบว่า “ดิจิทัล” จะไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่อุปกรณ์ หรือระบบซึ่งเป็น “เครื่องมือ” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ หากแต่เริ่มกลายเป็น “หลักทรัพย์ทางการเงิน” ไปด้วยแล้ว อย่างเช่น Cryptocurrency ที่มีหลากหลายสกุลเงินให้เลือกลงทุนและเริ่มเป็นที่ยอมรับสำหรับใช้ชำระหนี้ได้จริง ขณะเดียวกันศักยภาพของ “ดิจิทัล” เองนั้น ก็ถูกวิวัฒน์พัฒนาให้ขยายเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาล ปัจจุบัน AI (Artificial Intelligence) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” กำลังเป็นมิติใหม่ที่ต่อยอดให้ดิจิทัลสามารถคิด วิเคราะห์ หาเหตุผล และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ไม่แพ้ “ปัญญาของมนุษย์”

ด้วยความสามารถประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมากได้ภายในเสี้ยววินาที เราสามารถนำ “ดิจิทัล” มาช่วยจำลองรูปแบบและทางเลือกการลงทุน คำนวณผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในสถานการณ์การลงทุนรูปแบบต่างๆ ที่ซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ ทำงานได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทางกายภาพ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากบริการทางการเงินในวันนี้จะไม่ต้องมี “สาขา”  ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ และอีกไม่นาน เราก็จะได้ใช้บริการรูปแบบนี้เช่นกันในไทย ดังที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบไร้สาขา หรือ Virtual bank นั่นเอง

ดังที่อธิบายข้างต้นถึงวิวัฒนาการของโลกการเงินยุคใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แม้จะเป็นเรื่องใหม่แต่สำคัญ นี่คือ “โฉมใหม่” ของโลกการเงินที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังเข้าใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ หากแต่ยังคงมีคนส่วนน้อยที่จะเข้าใจและเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ลำพังเพียงความรู้ทางการเงินในมิติแบบเดิมก็นับว่าเข้าใจยากพอสมควรอยู่แล้ว แต่วันนี้อาจต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มเข้ามาด้วย แม้เพียงเข้าใจได้ในระดับพื้นฐานก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการเข้าถึงและเลือกใช้บริการทางการเงินในยุคดิจิทัล ทั้งอาจช่วยป้องกันปัญหาภัยคุกคามทางการเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย

การจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2566 ในห้วข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล” จึงมีความสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้สื่อข่าวการเงินและเศรษฐกิจให้มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินในโลกยุคดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ ทั้งมิติบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย เช่นผู้บริโภค สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงิน และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน มิติประเภทสินทรัพย์ลงทุนและความเสี่ยง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคัดเลือกการลงทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคล ขณะเดียวกัน ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการพิจารณาลงทุนในแต่ละรูปแบบด้วย เช่น สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุกับการวางแผนเกษียณ ความผันผวนของตลาดโลกต่อการลงทุนในทองคำ และการวางแผนจัดการความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายด้วยประกันสุขภาพ เป็นต้น

เมื่อผู้สื่อข่าวมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนดีแล้ว ย่อมเป็นตัวกลางสำคัญที่จะสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่สังคมวงกว้าง อันจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้ผู้คนในสังคมสามารถปลดล็อกข้อจำกัดความรู้เรื่องการเงินได้มากขึ้น สามารถคัดเลือกและวางแผนการเงินของตนเอง เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งในยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์:

  1. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมด้านการเงิน-การลงทุนในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น
  2. เพื่อส่งเสริมให้ผู้สื่อข่าวพัฒนาศักยภาพการนำเสนอข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจผ่านสื่อรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ:

  1. ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันซึ่งมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน
  2. ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้สำหรับการทำหน้าที่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับโลกการเงินยุคใหม่ เพื่อช่วยปลดล็อกศักยภาพความรู้ความเข้าใจ และสามารถจัดการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันเพื่อวางแผนทางการเงินผ่านบริการทางการเงิน-การลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม