Home ภาพข่าวกิจกรรม โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง 66 ดีเบต…นโยบายเศรษฐกิจ กับ 9 พรรคการเมือง

โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง 66 ดีเบต…นโยบายเศรษฐกิจ กับ 9 พรรคการเมือง

by admin
170 views

–ม.หอการค้าไทย เผยผลโพลเลือกตั้ง 66 ชี้ 3 เรื่องเร่งด่วน ต้องทำ ลดค่าครองชีพ-เพิ่มสวัสดิการ-เพิ่มค่าแรง

–ม.หอการค้าไทย เผยผลโพลเลือกตั้งปี 66 ระบุ 3 เรื่องด่วน ลดค่าครองชีพ-เพิ่มสวัสดิการ-เพิ่มค่าแรง ต้องเร่งทำหากเป็นรัฐบาล พร้อมระบุเน้นเลือกนโยบายแต่ละพรรคที่เหมาะกับตนเองไม่เน้นไปพรรคใดพรรคหนึ่ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนา โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง 66 ดีเบต…นโยบายเศรษฐกิจ กับ 9 พรรคการเมือง โดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า จากการสำรวจความคิดเห็น ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 เรื่อง “ความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง” โดยจากการสุ่มตัวอย่าง 2,000 ตัวอย่างทั่วประเทศ

โดยจากการสำรวจ พบว่า การลดค่าครองชีพนโยบายที่พรรคการเมืองและรัฐบาลเข้ามาดูแล โดยทุกกลุ่มตัวอย่างเน้นค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำประปา ค่ารถไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เลือกตั้งเป็นครั้งแรกให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพมากที่สุด รวมทั้งทุกช่วงวัยจะให้ความสำคัญกับนโยบายตรวจสุขภาพฟรี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการสร้างรายได้ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอี ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเลือกนโยบายของแต่ละพรรคที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ไม่ได้เน้นไปทางพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มีความหลากหลายทางความคิดตามช่วงวัย

ทั้งนี้ ในการทำผลโพลครั้งนี้ ผู้จัดทำได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง โดยเป็นเพศชาย 48.5% เพศหญิง 51.5% ประกอบด้วย 4 Generation ดังนี้ 1.Baby Boomers 2.Generation X 3. Generation  Y 4. Generation Z โดยนโยบายที่ดำเนินการสำรวจ ประกอบด้วย 8 นโยบาย ดังนี้

นโยบายที่ 1 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เช่น เพิ่มเป็น 450-600 บาทต่อวัน 2.ขึ้นอัตราเงินเดือน เช่น วุฒิปริญญาตรีเพิ่มเป็น 25,000 บาทต่อเดือน 3.เพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เช่น 1,000-5,000 บาทต่อเดือน ส่วนโครงการที่ได้ความสนใจ เช่น ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เช่น 1,200 บาท/เดือน โครงการเราเที่ยวด้วยกันภาค 2 ธนาคารหมู่บ้าน/ธนาคารชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท

โดยนโยบายที่ 1 ที่แต่ละ GEN ให้ความสำคัญ โดยกลุ่ม Baby Boomers และ GEN Y ให้ความสำคัญ กับนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นหลัก ขณะที่ GEN X ให้ความสำคัญกับการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วน GEN Z จะเลือกให้ความสำคัญกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับขึ้นอัตราเงินเดือน

นโยบายที่ 2 นโยบายแรงงาน/การจ้างงาน โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.สร้างตำแหน่งงานใหม่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 2.นำผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้าระบบประกันสังคม 3.เบิกเงินผู้ประกันตน 30% มาใช้ก่อนได้

โดยหากแบ่งแต่ละ GEN จะพบว่า นโยบายที่ กลุ่ม Baby Boomers และ GEN X ให้ความสำคัญสำหรับนโยบายด้านแรงงาน คือ สร้างตำแหน่งงานใหม่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ GEN Y จะให้ความสำคัญกับการนำผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าระบบประกันสังคม และ GEN Z จะให้ความสำคัญกับการนำผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าระบบประกันสังคม และการเบิกเงินผู้ประกันตน 30% มาใช้ก่อนได้

นโยบายที่ 3 นโยบายลดค่าครองชีพ โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.ลดค่าไฟฟ้า 2.ลดราคาน้ำมัน และ 3.ลดราคาแก๊สหุงต้ม ส่วนนโยบายที่ได้รับความสนใจรองลงมา คือ ลดค่าน้ำประปา , เงินเดือน 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี , บัตรเดียวสามารถเติมเงินใช้บริการสาธารณพื้นฐานได้ทั้งหมดเพื่อการใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น ลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย โดยนโยบายลดค่าครองชีพ ประชาชนมักให้ความสนใจและให้ความสำคัญค่อนข้างมาก

โดยหากแบ่งตาม GEN จะพบว่า นโยบายที่กลุ่ม Baby Boomers GEN X,Y และ Z ให้ความสำคัญ คือ การลดราคาแก๊สหุงต้ม ลดค่าไฟ รวมถึงลดค่าน้ำประปา เนื่องจากเป็นการลดภาระและลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

นโยบายที่ 4 นโยบายแก้ปัญหาหนี้สิน จากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท 2.ปลดล็อคให้สมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำเงินสมทบส่วนหนึ่ง เช่น ไม่เกิน 30% ออกมาซื้อบ้าน/ลดหนี้บ้านได้ 3.ยกเลิกหนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ทั้งนี้ หากแบ่งตาม GEN จะพบว่า กลุ่ม Baby Boomers และ GEN X และ Y ให้ความสำคัญ กับการพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอก คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่ GEN Z จะให้ความสำคัญกับการปลดล็อกให้สมาชิก กบข. และสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำเงินสมทบส่วนหนึ่ง เช่น ไม่เกิน 30% ออกมาซื้อบ้าน/ลดหนี้บ้านได้

นโยบายที่ 5 นโยบายสวัสดิการ โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.ตรวจสุขภาพฟรี 2.รักษาฟรีทุกโรค บัตรทอง 30 บาทพลัส 3.ให้เงินอุดหนุนค่าปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ เช่น ช่วยไม่เกิน 50,000 บาท/หลัง ส่วนนโยบายที่ให้ความสำคัญน้อย 3 อันดับ คือ 1.เรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี 2.บำนาญประชาชน 3,000 บาทต่อเดือน เป้าหมาย 5 ล้านคน (หวยบำนาญ) และ 3.ให้เงินรับขวัญเด็กแรกเกิด เช่น 3,000 บาทต่อคน โดยจากการสำรวจทุกกลุ่ม เน้นให้การดูแลในเรื่องสุขภาพ และการลดค่าครองชีพเป็นเรื่องที่สำคัญ

โดยหากแบ่งตาม GEN จะพบว่า ในการสำรวจนโยบายด้านสวัสดิการ ในทุกกลุ่มมองว่า นโยบายรักษาฟรีทุกโรค ตรวจสุขภาพฟรี และเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี เป้นนโยบายที่ทุกกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่ม Baby Boomers ยังให้ความสำคัญกับการให้เงินอุดหนุนค่าปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ และให้สิทธิเรียนเสริมทักษะ เปลี่ยนอาชีพฟรีไม่จำกัดด้วย

นโยบายที่ 6 นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.จัดสรรเงินสนับสนุนการปรับปรุง/พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 2.จัดสรรเงินสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว 3.พัฒนาแพลตฟอร์มท่องเที่ยวสัญชาติไทย ส่วนนโยบายที่ให้ความสำคัญรองลงมา คือ นำธุรกิจสีเทาเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยซอฟท์พาวเวอร์ และพัฒนาแพลตฟอร์มขายของออนไลน์สัญชาติไทย

ทั้งนี้ หากแบ่งตาม GEN พบว่า กลุ่ม Baby Boomers และ GEN X , Y ให้ความสำคัญกับ นำธุรกิจสีเทาเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่ม GEN Z ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มขายของออนไลน์สัญชาติไทย นอกจากนี้ ยังพบว่า นโยบายจัดสรรเงินสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นนโยบายที่ทุก GEN มองว่าเป็นนโยบายที่สำคัญมาก

นโยบายที่ 7 นโยบายเกษตร โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.สร้างเกษตรรุ่นใหม่ 2.ประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง 3.ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกร เช่น ปีละ 100,000 บาทต่อกลุ่ม ส่วนนโยบายที่ให้ความสำคัญน้อย คือ ขยายเขตไฟฟ้าเพื่อการเกษตร ผลักดันราคาสินค้าเกษตร/ตั้งกองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร และเกษตรกรขายคาร์บอนเครดิตได้ ส่วนการพักหนี้เกษตรกรนั้น มีบางกลุ่มให้ความสำคัญ

โดยหากแบ่งแยกแต่ละ GEN จะพบว่า ในกลุ่ม GEN X,Y และ Z ให้ความสำคัญกับการแจกพันธุ์ข้าวฟรี ลดค่าปุ๋ย ลดค่ายาฆ่าแมลง และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตร เป็นนโยบายที่กลุ่ม GEN Z และ กลุ่ม Baby Boomers มองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นเรื่องเดียวที่มองว่า ทุก GEN ให้ความสำคัญต่อนโยบายดังกล่าวมากที่สุด

นโยบายที่ 8 นโยบายช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจากการสำรวจ พบว่า  3 นโยบายแรก ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ 1.SME เข้าถึงทุน 2.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อเดือน ชำระดอกเบี้ยภายใน 6 เดือนถึง 3 ปี 3.หวย SME ซื้อสินค้า SME แถมหวย

โดยนโยบายสุดท้ายนี้ หากแบ่งตาม GEN จะพบว่า กลุ่ม Baby Boomers มองว่า การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน เป็นสิ่งที่ GEN ดังกล่าวให้ความสำคัญ ขณะที่ กลุ่ม GEN X ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงเงินทุนของเอสเอ็มอี และหวยเอสเอ็มอี รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่กลุ่ม GEN Y , Z ให้ความสำคัญกับ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ งดเก็บภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอส เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุน และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรกที่โดดเด่น คือ 1.ลดค่าครองชีพของประชาชนให้อยู่ในระดับเหมาะสม 2.เพิ่มเติมสวัสดิการในด้านต่างๆให้กับประชาชน (โดยเฉพาะสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและเบี้ยผู้สูงอายุ) 3.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และพัฒนาทักษฝีมือแรงงาน ส่วนนโยบายที่รองลงมา เช่น แก้ไขปัญหาความยากจน-ปัญหาหนี้สิน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนอยากถามนักการเมือง คือ นโยบายต่างๆ เอาเงินมาจากไหน หรือ จากภาษีประชาชน หรือ เงินนอกงบประมาณ นโยบายที่พูดออกมานโยบายเร่งด่วน และที่จะทำ นโยบายเร่งด่วน สามนโยบายที่ทำแล้วการได้คืออะไร เศรษฐกิจจะเติบโตแค่ไหน และเสียแค่ไหน หนี้สาธารณะจะเพิ่มหรือไม่

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ผนึกม.หอการค้าไทย จัดใหญ่ ดึง 8 พรรคใหญ่ดีเบต “นโยบายเศรษฐกิจ”  โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ปี 66 ชูแผนหาแหล่งเงิน ทำได้จริงเสริมแกร่งขีดความสามารถการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชั่น ‘รวมไทยสร้างชาติ’เมินร่วมตอบคำถามเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดงาน“โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง ปี 66 ดีเบต…นโยบายเศรษฐกิจ กับ 9 พรรคการเมือง”  ขึ้นที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถนนวิภาวดีรังสิต และเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย UTCC แต่ปรากฏว่าพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมจึงเหลือเพียง 8 พรรค ประกอบ ด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา  และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในการดีเบต แบ่งเป็น 3 รอบ ประกอบด้วยรอบที่ 1 ตอบประเด็นคำถามจากโพล , ดีเบตรอบที่ 2 ตอบประเด็นคำถามจากสังคม และดีเบตรอบที่ 3 สรุปภาพรวมนโยบายพรรคทางด้านเศรษฐกิจและการจัดลำดับความสำคัญในการนำมาใช้หากจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

@ 5 คำถามประชาชนถึงพรรคการเมือง โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็น(Poll) ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 เรื่อง “ความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบาย เศรษฐกิจของพรรคการเมือง” จากผู้ทำแบบสอบถาม 2,000 ตัวอย่างทั้งประเทศ  พบว่า ประชาชนให้ความสำคัญต่อนโยบาย  3 เรื่องหลัก คือ ลลดค่าครองชีพ-เพิ่มสวัสดิการ-เพิ่มค่าแรง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การสำรวจประชาชนได้ตั้งคำถามนักการเมือง 5 คำถาม คือ  1.นโยบายที่พรรคต่างๆนำเสนอจะเอาเงินมาจากไหนจะกู้หรือนำมาจากภาษีประชาชนหรือเงินนอกงบประมาณ 2.นโยบายที่วางไว้จะดำเนินการเมื่อไรทำทันทีหรือมีกรอบระยะเวลาอย่างไร 3.เมื่อดำเนินนโยบายแล้วจะเกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนอย่างไร 4.นโยบายต่างๆจะมีผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศมากน้อยเพียงใด และ5 . จะมีการรายงานผลของนโยบายต่อประชาชนเป็นระยะๆหรือไม่

@ชาติพัฒนากล้าชูโอกาสนิยม

ในเวทีดีเบต นายวรวุฒิ  อุ่นใจ รองหัวหน้า พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า สิ่งที่พรรคเน้นคือโอกาสนิยม ไม่ใช่ประชานิยม เพราะเสี่ยงมากที่นำเงินรัฐมาใช้ในช่วงที่ภาระหนี้ครัวเรือนสูง ภาระหนี้สาธารณะสูง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายวิธี เช่น การลดการผูกขาดธุรกิจ แก้ปัญหาโครงสร้างประเทศ รื้อโครงสร้างพลังงาน สนับสนุนเอสเอ็มอี แก้ไขเรื่องติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร และไปสู่ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสร้างเศรษฐกิจ เช่น ทำแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์สร้างมูลค่าเพิ่ม และภาครัฐต้องสนับสนุนเอกชนด้านนโยบาย ภาษี ประเทศไทยถึงมีอนาคต

“คำจำกัดความของพรรค งานดี มีเงิน ของไม่แพงจะมุ่งเน้นหารายได้ มีนโยบายเศรษฐกิจเฉดสี เพราะหากไม่มีเงินไม่มีรายได้ใหม่ๆเข้ามาประเทศ จะไม่มีสวัสดิการต่างๆให้ประชาชน จึงต้องหารายได้ แต่ต้องปรับรายได้ และให้เข้าถึงเงินทุน รวมทั้งแก้ปัญหาต่างๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาพีเอ็ม2.5 ที่มีพันธบัตรป่าไม้ หรือการเปลี่ยนชาวไร่เปลี่ยนเป็นไม้ยืนต้น อยากให้เกษตรกรรายได้ดีขึ้น”

@ เพื่อไทย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้เหลื่อมล้ำ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออก58% แต่มีปัจจัยภายนอกหลายปัจตัยที่มากระทบการส่งออก  ไทยจำเป็นต้องพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้จากการส่งออก

ในด้านการลดรายจ่าย เห็นด้วยกับประชาชนที่ขอให้ช่วยค่าครองชีพสูง ค่าไฟฟ้าสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ พึ่งพาสินค้าต่างประเทศมาก ต้องช่วยคนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงทุนแต่ไม่ใช่สินเชื่อ ต้องทำผ่านกองทุนที่ต้องขึ้นมาไม่ใช่ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงหนี้ ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่ดี จะช่วยได้มากในการลดปัญหาคอรัปชั่น ควรต้องมีการเปิดเผยข้อมูล และและไทยควรเข้ากับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพราะมีข้อมูลต้องเปิดเผยมากมาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

“สิ่งสำคัญคือระบบการศึกษา จะลดปัญหาเหลื่อมล้ำต่อเนื่อง และเรื่องสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค จะใช้เทคโนโลยีอัปเกรดการรักษาประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะไม่แออัดเหมือนเดิม แค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ไปคลินิกเจาะเลือดไม่ต้องไปโรงพยาบาล และไปรับยาร้านขายยา ระหว่างนั้นทำเทเลเมดิซีน ติดต่อแพทย์ผ่านเทคโนโลยีได้ เพื่อลดการแออัด”


@ภูมิใจไทย เน้นช่วยเอกชนตัวเบา

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ผลโพลออกมาคนต้องการค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มเงินในกระเป๋ามากที่สุด แต่คำถามคือทำได้หรือไม่ ผู้ประกอบการพร้อมหรือไม่ แต่จะให้ขึ้นภาษีในตอนนี้หรือไม่ยังไม่ถึงขนาดนั้น โดยมองเรื่องการสร้างทักษะคน ผลักดันภาคเอกชนไปสู่ระดับโลก กฎระเบียบควรแก้ไข ในเรื่องภาษีไม่ต้องคิดในตอนนี้ แต่ต้องทำอย่างไรให้เอกชนตัวเบาที่สุด เมื่อนั้นเงินในกระเป๋าประชาชนจะเพิ่มขึ้น

“เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ทุกพรรคเข้าใจดี และกลายเป็นวาทกรรมไปแล้ว ประเทศไทยต้องมององค์รวม นายกฯคนใหม่ต้องเป็นเซลแมน ออกไปค้าขายหารายได้ให้ประเทศ ไทยมีสิ่งดีๆเยอะ ต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้ ไทยพร้อมในทุกด้าน ไทยต้องปลดล็อก ไทยต้องอัพสกิล รีสกิล ประเทศไทยต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับดิจิทัล”

@ปชป.หนุนไทยศูนย์กลางนวัตกรรม

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกข้อที่ประชาชนร้องขอทั้งค่าครองชีพ ราคาพลังงาน เป็นสิ่งที่พรรคฯทำทุกโจทย์ และในเรื่องการเข้าถึงประกันสุขภาพจะให้ตรวจสุขภาพฟรี ใช้บัตรประชาชนใบเดียวตรวจ

สุขภาพฟรี และเรียนฟรีถึงปริญญาตรี 12 สาขา มีบริการอินเทอร์เน็ตฟรีทุกหมู่บ้าน 1 ล้านจุด สนับสนุนชุมชนท่องเที่ยวเมืองรอง ให้ทุกพื้นที่จัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ข้าว มัน ปาล์ม ยาง รวมถึงไทยต้องลงทุนวิจัยพัฒนา หรือ R&D ปัจจุบันยังน้อยแค่ 1% ของจีดีพี แต่พรรคฯตั้งเป้าใน 4 ปี จะเพิ่มเป็น 3% ต่อจีดีพี โดยรัฐลงเงิน 70% ของงบพัฒนาวิจัยทั้งหมด ไปให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมในภูมิภาค

“ปัจจัยสำคัญตัวชี้ว่าเลือกใครคือนโยบายของแต่ละพรรคตอบโจทย์หรือไม่ สร้างภาระเพิ่มหรือไม่ โดบพรรคฯมองระยะยาว ไม่ทำอะไรที่หวือหวา การนำเอาเงินงบประมาณซื้อเสียงล่วงหน้า เป็นการสร้างภาระประชาชนรุ่นต่อไป ประชาธิปัตย์ไม่ลดแลกแจกแถม การออกแบบนโยบายสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริง ปลดล็อกกฎหมายบางฉบับ กระตุ้นเศรษฐกิจมีเป้าหมายชัดเจน เน้นโตด้วยความเก่งไม่ต้องการให้ประชาชนพึ่งพารัฐ ให้เก่งด้วยตนเองและรัฐสนับสนุน ”

@ไทยสร้างไทย เสริมแกร่งเอสเอ็มอี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้า พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัญหาของไทยตอนนี้คือเรื่องหนี้สิน ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจากโควิดที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติศาสตร์ ผู้ประกอบการเริ่มไม่ไหว ซึ่งพรรคฯมีนโยบายช่วยให้หลุดจากเครดิตบูโร ช่วยเกิดการจ้างงาน และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดทรัพย์เจ้าหนี้นอกระบบ สิ่งสำคัญคือสร้างรายได้ให้เอสเอ็มอีแข็งแรง ให้เงินกู้  อัตราดอกดบี้ยต่ำ 1% ช่วยผลักดันสินค้าไทยให้เข็มแข็ง และจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรการท่องเที่ยวชุมชนซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

“คอรัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้ประเทศเดินไม่ได้ ผู้นำต้องแก้ปัญหา ทุกคนต้องช่วยกันทำ การลดคอรัปชันคือเรื่อง การใช้เทคโนโลยี อย่างดาต้าวัน เชื่อมข้อมูลเข้ามาหากัน จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ และพรรคมีอุดมการณ์ชัดเจน ต้องการประชาธิปไตย ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐประหาร คนในพรรคมีประสบการณ์ การเมือง ธุรกิจ คนรุ่นใหม่ แก้ไขอุปสรรคต่างๆ พรรคฯจะเป็นทางเลือกใหม่ประชาชน”

@พลังประชารัฐ ชูก้าวข้ามความขัดแย้ง

นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าโจทย์รัฐบาลหน้าที่ต้องทำคือเรื่อง สร้างสภาวะแวดล้อมอย่างไรสนับสนุนคนไทยมีโอกาส มีความหวังหารายได้เพิ่ม และช่วยบรรเทาค่าครองชีพอย่างไร ช่วยต้นทุนผู้ประกอบการตัวเล็ก เอสเอ็มอี รวมถึงรัฐบาลหน้าต้องวางภาพให้ชัด วางรากฐานสู่อนาคตยั่งยืน ครอบคลุม เท่าเทียมในทุกกลุ่ม และต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นจริงและทำทันที เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตไม่เต็มศักยภาพ

“สิ่งที่สำคัญคือนโยบายพรรคต้องก้าวข้ามความขัดแย้งเป็นเรื่องแรก เรื่องค่าครองชีพ ต้นทุน ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ ต้องปรับโครงสร้างนโยบายประเทศใหม่ ตอนนี้มีกลุ่มรื้อทั้ง ระบบต้องได้รับการแก้ไข ต้องทบทวนโครงสร้างภาษี และหนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องแก้หนี้เบ็ดเสร็จ และเติมทุนใหม่ รวมทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ คนไทยต้องได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง ลงทุนให้ถูกจุดทุกกลุ่มวัย เติมทุน พัฒนาทักษะ เป็นต้น”

 

 

 

@ชาติไทยพัฒนาใช้งบแค่ 3 ล้านล้าน

นายชาติชาย  พยุหนาวีชัย รองหัวหน้า พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายต่างๆที่ทุกพรรคออกไป รวมแล้วน่าจะ 3 ล้านล้านบาท แต่พรรคฯไม่เน้นนโยบายประชานิยม แต่เน้นการสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก เห็นได้จากช่วงโควิดธุรกิจรายเล็กฐานรากเอาเงินออมมาใช้ และรายได้ลดลง แถมมีปัญหาชำระหนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ใช่แจกเงิน แต่ต้องสร้างงานสร้างอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน มีความสามารถชำระหนี้ได้ การเพิ่มอาชีพให้คนอาจร่วมมหาวิทยาลัยต่างๆ ฝึกอบรม ให้งบประมาณดูแลคนสูงวัย จ้างซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า ซ่อมคอมพิวเตอร์ ค้าขายออนไลน์ คำนวณงบประมาณที่ใช้หาก 20 ล้านคนใช้เงินแค่ 20,000 ล้านบาท ขณะที่เรื่องเร่งด่วน จะทำอย่าไงไรให้จีดีพีเพิ่มขึ้น จะมุ่งส่งเสริมการเจรจาการค้าเสรีเปิดด่านการค้าชายแดน  ทั้งยังต้องใช้เทคโนโลยีหารายได้จากต่างประเทศ เช่นการทำแพลตฟอร์ม เหมือนกับแพลตฟอร์มของต่างประเทศที่เข้ามาหารายได้ในไทย และไทยต้องเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่สำคัญต้องมีหลัก Wow Thailand มาจาก เวลธ์ที่ดี สร้างโอกาสคนไทย และสร้างสวัสดิการให้ทุกคน นโยบายเน้นการดูแลเศรษฐกิจฐานรากผู้ด้วยโอกาส ไม่ใช่ลดแลกแจกแถม พยายามให้สร้างานสร้างอาชีพ ให้ผู้ด้อยโอกาส ให้เงินอุดหนุน ผู้พิการ คนสูงวัย อยากสร้างประเทศไทยที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานไทย ต้องการทำประเทศให้กรีน มีธรรมาภิบาล ไม่มีทุจริตคอรัปชั่น เรารับฟัง ทำจริง”

@ก้าวไกล เน้น เปิดเผยข้อมูลลดทุจริต

น.ส.ศิริกัญญา  ตันสกุล รองหัวหน้า พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สรุปผลโพลเรื่องเร่งด่วนคือเรื่องรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และเรื่องความมั่นคง พรรคก้าวไกลเห็นไม่ต่างกับประชาชน ได้มีนโยบายเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หัวใจคือ ขึ้นอัตโนมัติทุกปี และยังมีแก้ปัญหาโครงสร้างพลังงาน รวมถึงนโยบายสวัสดิการตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา จนวันสุดท้ายของชีวิตขณะเดียวกันต้องปรับปรุงงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลดโครงการไม่จำเป็นฟุ่มเฟือย จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ปรับปรุงจัดเก็บภาษีจากปัจจุบันมีรูรั่วมาก ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย และให้เศรษฐีคนมีเงินยอมจ่ายภาษี จากที่บริจาคการกุศลมามาก เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีมั่งคั่ง ซึ่งจะนำไปใช้สวัสดิการได้อย่างคุ้มค่า

“หลายครั้งมีโครงการดีแต่ประชาชนข้องใจเกิดทุจริตหรือไม่ ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเรื่องแรกต้องเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน และอาจมีแรงจูงใจถ้ามีการฮั้วะแล้วมีคนใดคนหนึ่งสารภาพก่อน จะได้รับการลดหย่อนโทษ หากสารภาพจะให้พ้นผิดได้ จะทำให้การจ่ายส่วยหมดไป และยังทำให้เงินงบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่แค่เพียงเลือกคนที่ดี แต่ต้องมีระบบที่ดีด้วย”