Home ภาพข่าวกิจกรรม ‘สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ’ ผนึกพันธมิตรจัดใหญ่มอบ 12 รางวัล ‘สุดยอดซีอีโอ’ครั้งแรก

‘สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ’ ผนึกพันธมิตรจัดใหญ่มอบ 12 รางวัล ‘สุดยอดซีอีโอ’ครั้งแรก

by admin
580 views

‘สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ’ ผนึกพันธมิตรจัดใหญ่มอบ 12 รางวัล ‘สุดยอดซีอีโอ’ครั้งแรก

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ กกร. และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประกาศรางวัล “CEO Econmass Awards 2022” ยก 12 ซีอีโอต้นแบบนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติ หวังสร้างแรงบันดาลใจธุรกิจไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

น.ส.จิตวดี เพ็งมาก นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำโครงการคัดเลือกสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2565 เพื่อเข้ารับรางวัล Thailand’s CEO Econmass Awards 2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเกียรติคุณ และยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้บริหารภาคเอกชน ที่สามารถนำพาองค์กรให้ก้าวขึ้นสู่องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจในการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันสู่ระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย

ทั้งนี้รางวัล Thailand’s CEO Econmass Awards 2022 แบ่งเป็น 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1.รางวัลซีอีโอรุ่นใหญ่ ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (CEO Econmass Awards 2022) 2.รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่ (The Best CEO Econmass Awards 2022) 3.รางวัลซีอีโอ รุ่นใหม่ หรือธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs CEO Econmass Awards 2022) 4.รางวัลสุดยอดซีอีโอ เอสเอ็มอี (The Best SMEs CEO Econmass Awards 2022) และ5.รางวัลซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน (Popular Vote CEO Econmass Awards 2022)

สำหรับ CEO ที่ได้รับรางวัล ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นตามหลักเกณฑ์ และตามหลักวิชาการที่เป็นมาตรฐานสากล โดยคณะกรรมการคัดสรร คณะกรรมการคัดเลือก และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กกร. ผู้บริหาร และคณาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังเปิดโอกาสให้บรรณาธิการเศรษฐกิจ 83 องค์กรสื่อ ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้ร่วมโหวต เพื่อเลือก “สุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่” และสมาชิกสมาคมฯ จำนวน 456 คน ได้ร่วมโหวตเลือก “ซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน”  โดยมีรายนามผู้ได้รับรางวัลดังนี้

1.รางวัลซีอีโอรุ่นใหญ่ ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน  5 บริษัท  ดังนี้

1.1 นายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ สาขาอุปโภคบริโภค
1.2 นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ สาขาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
1.3 นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีคิวเอ็ม อัลฟา สาขาธุรกิจการเงิน
1.4 นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ซีอีโอ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ สาขาทรัพยากร
1.5 นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี สาขาเทคโนโลยี

2.รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บมจ.ทีคิวเอ็มอัลฟา

3.รางวัลซีอีโอ เอสเอ็มอี  จำนวน 4 บริษัท ดังนี้

3.1 นายอุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จํากัด สาขาบริการ
3.2 นางสาวณัชชา รุจิชลาดล ผู้บริหาร บจก.บิทแมกซ์ อินเตอร์คอร์ป สาขาธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง
3.3  นายสุเมธ งามเจริญ ประธาน บริษัท เอ-พลัส ซัพพลาย จำกัด สาขาธุรกิจอุตสาหกรรมและการผลิต
3.4 นายทสม์ เจริญช่าง  กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิริสมปอง ออร์แกนิค ฟาร์ม จำกัด / สวนมะนาวโห่ลุงศิริ สาขาเกษตร

4.รางวัลสุดยอด ซีอีโอ เอสเอ็มอี จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
นายอุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าบริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จํากัด

5.รางวัลสุดยอดซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต

“สมาคมฯ ขอแสดงความยินดีกับซีอีโอทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า รางวัล CEO Econmass Awards 2022 จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะภาคเอกชน ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย” น.ส.จิตวดีกล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และกกร. จัดทำโครงการคัดเลือกสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน ประจำปี 2566 เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้บริหารภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศ โดยใช้แนวคิดตามหลักวิชาการ ผสานกับประสบการณ์ของมหาวิทยาลัย ที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ การค้า และเศรษฐกิจของอาเซียน รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการประเมินการมอบรางวัลต่างๆ มากมาย ทำให้การคัดเลือกโดยใช้หลักเกณฑ์ทางวิชาการ มีความแม่นยำ และเชื่อถือได้

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รางวัลนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจอื่นมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการของไทย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันขององค์กร และของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน” นายธนวรรธน์กล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รมว.คลัง ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง เร่งเดินหน้านโยบายการคลังสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย หารือ ธปท.ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ หวังปัจจัยลงทุน ใช้จ่ายหนุนจีดีพีโตเพิ่ม ยันพื้นที่ทางการคลังเพียงพอรองรับวิกฤติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจปี 2566” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจวันที่ 15 ก.พ.2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยได้

“พลังขับเคลื่อนปีนี้คงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยว โดยยืนยันว่า นักท่องเที่ยวทุกคนมีความหมายต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันมาตรการของรัฐ คือ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ ขณะที่มาตรการด้านการบริโภคภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย จึงได้ออกมาตรการช้อปดีมีคืนสูงสุด 40,000 บาท ซึ่งอยากให้มากกว่า แต่ต้องดูขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้” นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมี แต่ด้านฐานะทางการคลังยังแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันจากการขยายเพดานเงินกู้ ส่งผลให้ไทยยังมีพื้นที่ทางการคลัง และมีช่องว่างที่จะกู้เงินเพิ่มเติมได้ถึง 10% ของจีดีพี ในกรณีที่เกิดวิกฤติและต้องหาเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่เสียวินัยทางการคลังด้วย ประกอบกับปัจจุบันหนี้ต่างประเทศของไทยมีสัดส่วนน้อยกว่าเงินกู้ในประเทศ ส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของไทยยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

“วันนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 60.67% ต่อจีดีพี ซึ่งหากใช้เกณฑ์เดิมเกินมา 0.67% วันที่ปรับเพดานเพื่อความปลอดภัยในเรื่องข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีพื้นที่เราต้องกู้หมด เราต้องดูโครงการที่ยังมีโครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐที่อาศัยเงินกู้ การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ค้ำประกันจึงไม่ได้เป็นหนี้สาธาณะ จึงต้องดูให้ดีว่าเป็นการก่อหนี้เพื่ออะไร แต่หนี้ส่วนใหญ่ 80% เป็นเรื่องของการลงทุนและมีผลต่อการเติบโตในระยะยาว เราบริหารในเรื่องการเงินการคลัง การประสานงานกันระหว่างกระทรวงการคลังและธปท.” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ยืนยันว่า การใช้จ่ายของภาครัฐบาลยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการลงทุน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตในอนาคต ส่วนในเรื่องงบประมาณในปี 66 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุล 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 700,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 ตั้งงบประมาณขาดดุล 593,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 66 ที่ 102,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก

“การตั้งงบประมาณต้องวางแผนให้มีเหตุมีผล เมื่อไหลที่ขาดดุลนานจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังยืนยันตลอด คือ นโยบายการคลังที่ยั่งยืน ไม่เฉพาะไทยเท่านั้นแต่ประเทศอื่นก็ทำลักษณะเดียวกัน เมื่อโควิดหมด ต้องทำนโยบายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายอาคม กล่าว

ด้านการดำเนินนโยบายนั้น ยืนยันว่า นโยบายการเงิน และการคลังต้องสอดประสานและทำงานร่วมกัน โดยการดูแลในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ การใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำนโยบายการเงินนั้น ต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่ถามว่า เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ยอมรับว่า ไทยมีผลอยู่บ้าง สะท้อนจากภาคการส่งออกที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน การค้าชายแดน รวมถึงการหาตลาดใหม่ๆ มาชดเชยการส่งออกในบางส่วนที่หายไป

นายอาคม กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะย้ำในปีนี้ คือ ตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจไปได้ คือ การลงทุน ปีนี้เรื่องการลงทุนของภาคเอกชน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรเร่งตัวขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาอัตราการลงทุนของไทยค่อนข้างช้า จากข้อจำกัดด้านโควิด ทำให้กำลังแรงงานมีปัญหา การติดโควิดในไซต์งาน ดังนั้นในปีนี้ แรงขับเคลื่อน คือ การลงทุน โครงการอีอีซีจะมีนัยสำคัญของการสร้างการเติบโตในปีต่อๆ

ขณะที่ สิ่งที่คิดว่า มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต 2 เรื่อง คือ เรื่อง Digital และ Green โดยการที่จะให้ประเทศของไปสู่ความทันสมัย การใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม 5G ต่างๆ ล้วนเป็นดิจิทัลอินฟาสตักเจอร์ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่ต้องไม่ลืมผลลบ เมื่อเปิดมากก็เปิดช่องให้มิจฉาชีพ เช่นที่เผชิญทุกวันนี้ เกิดการแฮกข้อมูล การหลอกลวงมีทุกช่องทาง ดังนั้นการเกิดระบบรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ

3 กูรูฟันธง ‘เศรษฐกิจไทย’ แกร่ง ชี้กำลังซื้อ – ท่องเที่ยว- ลงทุนรัฐ – เอกชน หนุน ‘จีดีพีปี 66’ โตต่อเนื่อง 

วันที่ 15 ก.พ.2566 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “มองต่างมุมเศรษฐกิจไทย ปี 2566” โดยได้เชิญ 3 กูรู 3 มุมมอง ทั้งภาคเอกชน ตลาดเงิน และตลาดทุน ประกอบด้วย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) มาแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เริ่มทยอยฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอย่างน้อย 1-2% โดยภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ร่วมทำงานเชิงรุกเจาะตลาดการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ภาคตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่เปิดประเทศเชื่อมสัมพันธ์กับไทยทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯทำได้มากขึ้น รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะต้องเจรจาการค้าเพิ่มประเทศเข้ากรอบเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)เพิ่มเติม คาดว่าภายใน 2 ปีประเทศไทยจะมีข้อตกลงเอฟทีเอเพิ่มเป็น 27 ประเทศ

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 30 ล้านคนจากปีที่ผ่านมา 11.8 ล้านคน ทำให้นอกจากการท่องเที่ยวดี จะทำให้ภาคบริการดีและการจ้างงานก็จะดีขึ้นด้วย โดยมองว่ารัฐบาลจะต้องมีงบประมาณมาช่วยโปรโมทให้ชาวจีนเข้าเที่ยวไทยที่กำลังจะเข้ามาในไตรมาส 2 นี้ ทำให้จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้ให้กับประเทศ เกิดการจ้างงานและการลงทุนที่จะต้องเริ่มดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว

“หอการค้าฯจะร่วมกับภาครัฐจัดเดินสายเจรจากับจีนให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยภาครัฐจะต้องมีแรงจูงใจเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจและการลงทุนเพิ่มเติม แม้ภาษาจีนของคนไทยจะเสียเปรียบ แต่เศรษฐกิจไทยมีมุมมองให้จีนนั้นหลงใหล จีนเริ่มลงทุนในไทยมากขึ้น จนญี่ปุ่นอิจฉา โดยหลังจากการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่จะทำให้มีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่ช้าไปเหมือนกับในอดีต ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องทำงานใกล้ชิดเอกชนมากขึ้น ให้เข้าใจถึงความต้องการ มีมาตรการที่ออกมาจริง อยากให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกมากกว่ามากำกับ”

นายสนั่น กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือจะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างไรให้เข้าถึงเงินทุนและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมองว่าเรื่องภาษีจะมีส่วนช่วย เพราะที่ผ่านมามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง แต่เอสเอ็มอีไม่กล้าเข้าร่วมเพราะกลัวเรื่องของภาษี ในเรื่องนี้ได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ถ้าตกลงกันได้ที่จะช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องภาษี ก็จะมีส่วนช่วยการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี 2-3 ล้านคน

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะยังชะลอตัว แต่ในแต่ละประเทศมีการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเติบโต 1.4% ในปี 2566 และในปี 2567 จะเติบโต 1% ซึ่งชะลอลงจากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นมากขึ้นเร็วและยังไม่หยุดขึ้น อาจขึ้นจนถึงกลางปีและยังไม่ลดลงจนถึงสิ้นปีนี้ และเศรษฐกิจยุโรปได้มีปัญหามากจากสงครามรัสเซียกับยูเครน การขาดแคลนด้านพลังงานและสินค้าวัตถุดิบด้วย ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียดีขึ้น โดยเฉพาะของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับด้านเงินเฟ้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ซึ่งเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ราคาอาหารและราคาพลังงานไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมาที่เกือบ 100% เงินเฟ้อสูงมาจากราคาค่าไฟ ค่าน้ำมัน อาหารสด แต่เศรษฐกิจปีที่แล้วยังไม่ฟื้นตัวมาก ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย และผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไปบางส่วนเท่านั้น ทำให้ในปีนี้ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่โลกผันผวน โดยต้องทำอย่างรอบคอบและชั่งน้ำหนักทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน

“การขึ้นดอกเบี้ยต่างประเทศขึ้นเร็วขึ้นมาก แต่ไทยไม่มีความจำเป็น ที่ผ่านมาดอกเบี้ยไทยค่อนข้างต่ำ ต่ำเป็นประวัติการณ์ ตอนนี้กำลังกลับเข้าสู่ระดับปกติ เพื่อให้มี Policy Space ให้ลดดอกเบี้ยลงไปได้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยถ้าเกิดผันผวน นโยบายการเงินจะไม่มีช่องว่างให้ทำได้ โดยยังย้ำการปรับดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ปกติค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้ตลาดผิดไปจากที่คาดไว้ ซึ่งมีหลายคนบอกว่าขึ้นดอกเบี้ยช้าจะเกิดส่วนต่างดอกเบี้ยกับประเทศอื่น ทำให้เงินไหลออก ซึ่งความจริงในไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่นักลงทุนไม่ได้มองดอกเบี้ย แต่มองเศรษฐกิจ ทุนสำรอง หนี้ต่างประเทศต่ำ ดูว่าจะเกิดวิกฤติอะไรหรือไม่ เหมือนกับไฟแนนเชี่ยลไทม์ ได้บอกว่าเงินสกุลบาทมีเสถียรภาพสามารถทนทานต่อวิกฤติการเงินของโลกได้”

นอกจากนี้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (อีเอสจี) เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ได้รับความร่วมมือหลายส่วนและธปท.กำลังทำ Thailand Taxonomy เพื่อจัดกลุ่มสีเขียว ให้เป็นมาตรฐาน และให้ภาคการเงินสร้างผลิตภัณฑ์และบริการสีเขียวมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆต้องรองรับให้ได้ ดูกระบวนการผลิตอย่างไร เพื่อให้ผู้ที่ทำธุรกิจร่วมกัน ให้ทราบว่าประกอบธุรกิจทำอย่างไร ดูตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ไม่ใช่แค่ดูว่าเป็นสีเขียวเท่านั้น และภาครัฐต้องมีแรงจูงใจให้ภาคเอสเอ็มอีปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเจอ ทั้งโควิด-19 และยูเครนกับรัสเซีย หรือสภาพคล่องลดลง รวมถึงดอกเบี้ยสูง มีปัจจัยต่างๆทำให้กระทบเศรษฐกิจ ตลาดทุนทั่วโลก โดยในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว และนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นเห็นได้จากเดือนม.ค.2566 แค่เดือนเดียวมีเงินไหลเข้ามา 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้เงินบาทแข็งค่า 34 บาทต่อดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 38 บาทต่อดอลลาร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในด้านตลาดทุนอุตสาหกรรมที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยคือการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว การลงทุนที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งแม้อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะดูเก่า แต่ได้นำเทคโลยีเข้ามาพัฒนามากขึ้น เช่น การแปลงพืชเป็นเนื้อสัตว์ หรือ Plant based food ทำอาหารให้มีคุณค่า การใช้เทคโนโลยีให้มีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับการสนับสนุนตลาดทุนไทย ตลท.ได้ปรับปรุง 2 เรื่อง โดยในเรื่องแรกทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจระดมทุนได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก จากเดิมเป็นแค่ขนาดใหญ่กับขนาดกลาง โดยตลท.เริ่มมีกระดานเทรดใหม่ระดมทุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น LiVE Exchange เป็นต้น

 

“ในปีนี้สิ่งที่อยากให้นักลงทุนพิจารณา คือ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเป็นความเสี่ยงที่ลดลง ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามข่าวสารต่างๆอยู่เสมอ และผลกระทบต่างๆของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรม และผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นนักลงทุนจะติดตามข่าวสาร เพื่อลงทุนในสินทรัพยที่เหมาะสม”