Home ข่าวสารสมาคม รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

by admin
1126 views

เมื่อนักข่าวทำกิจกรรมเพื่อสังคม

กิจกรรมเพื่อสังคม เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการดูแล สวัสดิการให้กับสมาชิก ซึ่งคณะกรรมการสมาคม มีการดำเนินการเป็นประจำในแต่ละปี สื่อเศรษฐกิจฉบับล่าสุดนี้ จึงอยากจะขอรายงานความคืบหน้าและกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทางสมาคมได้ดำเนินการไปแล้วหรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อที่จะเชิญชวนให้สมาชิกได้เข้ามามีส่วนร่วม ในกิจกรรม ร่วมกับทางสมาคม ในโอกาสต่อๆไป เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมของเราให้ ให้อยู่ดีมีสุข ตามกำลังและความสามารถของเรา

เริ่มจากกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากปีทีผ่านมา คือ โครงการจัดสร้างห้องสมุดชุมชนวัดเลขธรรมกิตติ์ (กรีเมธอุทิศ) จังหวัดนครนายก ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมาได้มีพิธีรับมอบกันไปแล้ว โดยมี วิมล ตัน นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจพร้อมคณะกรรมการบริหาร ร่วมกับ ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนโครงการ เดินทางไปด้วยตัวเอง
โครงการนี้ได้ริเริ่ม โดยคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจปี 2548 เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับความร่วมมือในการสรรหาโรงเรียนที่เหมาะสมจากผู้อำนวยการเขตการท่องเที่ยวพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดนครนายก ที่จะจัดสร้างห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งเห็นพ้องกันว่าควรจัดสร้างห้องสมุดชุมชนโรงเรียนวัดเลขธรรมกิตติ์ (กรีเมธอุทิศ) เพื่อให้ประโยชน์แก่เด็กนักเรียนและชุมชนบางอื้อและพื้นที่ใกล้เคียง ได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้
โรงเรียนวัดเลขธรรมกิตติ์ ตั้งอยู่หมู่ 14 ตำบลบางอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เขตพื้นที่การศึกษานครนายก เปิดสอนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษา จำนวนนักเรียน 300 กว่าคน นักเรียนส่วนใหญ่ 80% มาจากพ่อแม่และครอบครัวที่พ่อแม่ทิ้งให้อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย นักเรียนขาดทุนทรัพย์ค่าอาหาร และอุปกรณ์การเรียน ซึ่งเดิมโรงเรียนแบ่งพื้นที่แคบๆ ด้านหลังห้องปฏิบัติการทางภาษาทำเป็นมุมอ่านหนังสือ ห้องสมุดดังกล่าวไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์แก่นักเรียนโรงเรียนวัดเลขธรรมกิตติ์ แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนบางอ้อ ซึ่งมีประชากรประมาณ 3,500 คน มีสถานศึกษา 3 แห่ง ซึ่งเดิมภายในตำบลยังขาดสถานที่ ที่เป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับนักเรียนและประชาชน และทางโรงเรียนวัดเลขฯ มีแนวทางสำหรับบริการใช้ห้องสมุดดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ
1.บริการข้อมูล ข่าวสารที่ทันสมัยให้แก่ชุมชน โดยจัดหาหนังสือที่หลากหลายประเภทแก่นักเรียนและประชาชนได้อ่านและศึกษาหาความรู้
2.บริการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตสำหรับนักเรียนและประชาชนในชุมชน
3.บริการที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน
4.บริการให้ยืมหนังสือห้องสมุดสำหรับนักเรียนและประชาชน
และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีโครงการต่อเนื่องคือ จัดปูกระเบื้องห้องอนุบาล 2 ห้อง จัดหาคอมพิวเตอร์ หนังสือและสื่ออื่นๆ เพิ่มเติม พร้อมทั้งติดตามผลเพื่อช่วยเหลือเป็นลำดับต่อไป

สำหรับโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมล่าสุด สมาคมฯ ได้ยึดตามแนวพระราชดำริของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
ซึ่งรายได้จากการจัดแรลลี่เพื่อการกุศล ส่วนหนึ่งได้นำเข้า โครงการ “เสริมสร้างความรู้ อยู่แบบพอเพียง” ของโรงเรียนวัดปากสมุทร (ไวยวุฒิชนานุสรณ์ ) จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งนี้สมาคมฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมาและจะจัดทำอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายสำคัญของโครงการคือช่วยปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชน ให้มีความรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพื่อให้โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนนำร่องที่เป็นต้นแบบในการดำเนินกิจกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
การเลือกพื้นที่โรงเรียนวัดปากสมุทร เป็นเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรม เนื่องจากเป็นโรงเรียนของรัฐ
ที่ผู้บริหารของโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี2542
แต่การดำเนินกิจกรรมหลายๆส่วนยังต้องการ การสนับสนุนจากองค์กรภายนอก อีกทั้งโรงเรียนดังกล่าวยังเป็นโรงเรียนขยายโอกาส อยู่ท่ามกลางชุมชนแออัด เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษา ขาดแคลนโอกาสที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป เนื่องจากครอบครัว
ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็กมีฐานะยากจน
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับองค์กรสนับสนุน มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปช่วยจัดกิจกรรมร่วมกับคณะครู เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็ก ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาส ในการศึกษาและช่วยให้เด็ก รู้จักที่จะพึ่งพาตัวเอง
ซึ่งจะนำไปสู่สังคมแห่งความพอเพียงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ความสำเร็จหรือปัญหาที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ยังเป็นแนวทางในการปรับปรุงกิจกรรม สำหรับการขยายความช่วยเหลือไปยัง โรงเรียนอื่นๆ ในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง
การปลูกฝังจิตสำนึก ในหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ซึมลึกลงไปในจิตใจของเด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ตั้งแต่เริ่มต้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะเป็นการช่วยให้เขาเหล่านั้น มีหลักในการปฏิบัติตนและมีวิธีคิด ที่ถูกต้อง เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม และจริยธรรม เป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ
ดังนั้นบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าวไม่ควรจะปล่อยทิ้งให้เป็นภาระ ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกองค์กรควรจะตระหนัก และเข้ามามีส่วนร่วม ในการช่วยเสริมสร้าง และนำแนวทางดังกล่าวลงไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ตามแนวทางนี้

ความคืบหน้า การเตรียมการ โครงการเสริมสร้างความรู้อยู่อย่างพอเพียง
คณะทำงานและกรรมการสมาคม ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้มีเตรียมการโครงการ ดังนี้
ครั้งที่1.
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 กลุ่มนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
สาขา การบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม รุ่นที่ 8 จำนวน 10 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้ได้เข้ามาช่วยลงสำรวจสภาพพื้นที่ สัมภาษณ์กับผู้อำนวยการโรงเรียน ถึงสภาพทั่วไปของโรงเรียนกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมพิเศษอื่นๆที่ทางโรงเรียนดำเนินการอยู่ เพื่อนำข้อมูล ที่ได้ มาใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์และกำหนดกิจกรรม โดยสรุปรายละเอียดข้อมูลการลงพื้นที่ครั้งแรกดังนี้
โรงเรียนวัดปากสมุทร (ไวยวุฒิชนานุสรณ์) เป็นโรงเรียนของรัฐ ที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณปากอ่าวแม่กลอง มีเนื้อที่ 5 ไร่ 96 ตารางวา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียนในปัจจุบันทั้งสิ้น 388 คน จำนวนครูผู้สอน 18 คน และผู้บริหาร 1 คน
อาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในโรงเรียน – โรงเรียน มีอาคารเรียน 4 หลัง ห้องเรียน 30 ห้อง ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องจัดกิจกรรม และโรงอาหาร สภาพแวดล้อมทั่วไป – พื้นที่ของโรงเรียนวัดปากสมุทรฯ เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง มีสภาพดินเค็ม ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก โรงเรียน ถูกแวดล้อมด้วย
วัดสถานีอนามัยและชุมชนแออัด โดยที่ไม่มีรั้วกั้นโดยรอบ การดูแลรักษาทำได้ยาก และชุมชนมีปัญหายาเสพติด ส่งผลกระทบต่อการระมัดระวังดูแลเด็กนักเรียน
ชุมชนแออัดโดยรอบที่อยู่ในเขตบริการของโรงเรียน เป็นชุมชนที่อพยพมาจากที่อื่น ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และรับจ้างทั่วไป มีรายได้ไม่แน่นอน เด็กนักเรียนที่อยู่ในวัยทำงานได้ จึงถูกผู้ปกครองใช้ให้ช่วยทำงานที่บ้าน จึงไม่ค่อยมีเวลา ที่จะมาร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น บางครั้งเด็กต้องขาดเรียนเพื่อติดตามผู้ปกครองไปรับจ้างต่างถิ่น
ที่ผ่านมาโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง เช่น กิจกรรมส่งเสริมการออม กิจกรรมปลูกพืชสมุนไพร กิจกรรมผลิตสินค้าด้วยฝีมือนักเรียน โครงการเพาะเลี้ยงเห็ด โครงการผ้ามัดย้อม โครงการตลาดนัดเพื่อชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ฯลฯ
ความคืบหน้าล่าสุดทางสมาคมอยู่ในระหว่างการจัดเตรียมกิจกรรมร่วมกับคณะครู ซึ่งคาดว่าจะน่าเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม ปี2550 นี้ โดยเบื้องต้นได้วางแนวทางการทำงานร่วมกับโรงเรียนออกเป็น 2 ระดับ คือ
1.ในระดับที่เกี่ยวข้อง กับคณะครู และโรงเรียนในภาพรวม
2.คือระดับที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนโดยตรง โดยจะมุ่งไปที่เด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ที่จะคัดเลือกจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีที่ 6 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1และ 2 เนื่องจากเด็กในวัยดังกล่าว มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งง่ายต่อการจัดกิจกรรม การสร้างกระบวนการเรียนรู้
ในโอกาสนี้ขอเชิญชวนให้เพื่อนๆสมาชิก ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมดีๆเพื่อสังคมร่วมกับสมาคม โดยผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเข้ามาได้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โทร02-9373294-5 หรือwww.econmass.com